เรียน พณ ท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 ท่านนายกไปเปิดงานประชุมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย Thailand Sustainable Development Symposium 2011 ที่จัดโดยบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ท่านกล่าวเปิดงานประชุมว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเปิดงาน เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

อาทิ นโยบายคืนภาษีรถคันแรก และน้ำมันราคาถูกหรือคะท่านนายก?

ท่านนายกขา ใครๆ เขาก็รู้สึกว่ามันขัดแย้งกับทิศทางการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำจังเลยค่ะ นโยบายของท่านไม่เพียงทำให้คลังสูญเสียรายได้ถึง 30,000 ล้านบาทต่อปีจากภาษีรถคันแรก และ 6,000 ล้านบาทต่อเดือนจากน้ำมันราคาถูก แต่ที่สำคัญ นโยบายของท่านกำลังส่งเสริมให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น ใช้น้ำมันกันมากขึ้น พฤติกรรมที่ล้วนแล้วแต่นำไปสู่การยกระดับให้เราเป็นสังคมคาร์บอนสูงปรี๊ด เพิ่มมลพิษในอากาศหายใจ เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งปอดของประชาชน จราจรติดขัด สุขภาพจิตเสีย และเรื่องแย่ๆ อีกมากมายที่ตามมากับภาวะของเมืองที่ตกเป็นจำเลยของกองทัพรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ใช้พลังงานฟอซซิลที่เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

เพราะรถยนต์สร้างปัญหามากมาย ตอนนี้ทั่วโลกเขาถึงมีแต่ออกนโยบายเพื่อให้คนลดใช้รถยนต์ไงคะ

ดิฉันเป็นผู้หญิง ก็ไม่อยากให้ใครมาว่าว่านายกหญิงไทยที่บังเอิญหน้าตาสวยหุ่นดี ว่าเป็นได้แค่ตุ๊กตาบาร์บี้ เสียสถาบันหญิงไทยงามอย่างมีคุณค่าเปล่าๆ

ท่านอย่าให้ใครบังอาจสบประมาท ท่านออกนโยบายใหม่มาเสริมดีกว่า

ดิฉันเข้าใจว่าท่านไม่อยากทำเสียสัญญาเลือกตั้ง ไม่เป็นไรค่ะ สำนวนฝรั่งว่าถ้าส้มมันช้ำแล้วให้เอามาทำแยม มะนาวช้ำให้ทำน้ำมะนาว เกมนี้แก้ได้ ไม่เสียฟอร์ม

ลิ่วล้อของท่านบอกว่าการได้ครอบครองรถยนต์เป็นความฝันของมนุษย์ ฟังดูเชยตกยุคคาร์บอนต่ำจังเลยค่ะ คนเก๋ๆ เขาไม่คิดอย่างนั้นกันแล้ว แต่ไม่เป็นไรค่ะ ซื้อกันมาครองก็ได้ ท่านให้คนมีโอกาสได้เป็นเจ้าของรถยนต์ แต่ท่านสามารถส่งเสริมให้เราใช้รถแต่เมื่อจำเป็นต้องใช้ดีไหมคะ แบบนี้วินๆ ค่ะ ได้ครอบครองรถยนต์ แต่ไม่ใช้รถบ่อยเกินไป

หมายความว่า เราซื้อรถยนต์ได้ถูก แต่เวลาใช้เราต้องคำนึงถึงค่าภาระต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เราก่อขึ้น ตรงนี้แหละค่ะที่ท่านสามารถออกมาตรการเสริมมาจูงใจคัดหางเสือกำกับพฤติกรรมผู้บริโภค

คำถามคือในเมื่อท่านไปลดราคาน้ำมันเสียแล้ว ยังมีมาตรการอะไรอีกที่ท่านสามารถออกมาแก้รำได้

หลายเมืองใช้วิธีกำหนดโซนเก็บค่าทำจราจรติดขัดค่ะท่าน เก็บเป็นรายวันในช่วงเวลาที่คนเดินทางกันเยอะๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนไม่ใช้รถยนต์ถ้าไม่จำเป็น ระบบเก็บเงินไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ ไม่ต้องตั้งเป็นด่านเก็บตังค์คิวยาวแบบทางด่วนหรอกค่ะ จ่ายทางอินเทอร์เน็ตหรือกับไปรษณีย์ตามหมายเลขทะเบียนรถ ติดเซ็นเซอร์ที่รถ เวลาผ่านเขตโซนก็จะรับรู้ว่าคันไหนจ่ายไม่จ่ายหรือยัง ถ้าแอบเบี้ยวก็ปรับหนักไปเลยค่ะท่าน

เพื่อช่วยเหลือคนที่จำเป็นต้องใช้รถยนต์จริงๆ เช่น คนพิการ และแท็กซี่ ท่านก็สามารถยกเว้นกลุ่มนี้ได้ค่ะ ไม่เสียคะแนนนิยมด้วยค่ะท่าน แต่ได้โปรดจำกัดจำนวนแท็กซี่ด้วยนะคะ ไม่งั้นทุกคนจะหันมาขับแท็กซี่กันหมดค่ะ

รายละเอียดทางปฏิบัติอื่นๆ ศึกษาได้จากเมืองที่ทำมาแล้ว เช่น สิงคโปร์และลอนดอนที่ท่านช้อปกันบ่อยๆ

เริ่มในโซนเมืองชั้นในที่มีระบบขนส่งมวลชนสะดวกสบาย เงินที่เก็บได้จากค่าทำรถติด ก็นำมาใช้ปรับปรุงการสัญจรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พื้นฐานที่สุดก็ทางเดินเท้าดีๆ มีร่มไม้ปกคลุม พื้นถนนก็แบ่งมาทำเลนจักรยาน เลนรถเมล์คุณภาพ สามล้อปั่นระบบเกียร์ดีๆ ก็เก๋ไก๋ไม่เบา ไทยแลนด์ผลิตเองได้ แถมสร้างงานสีเขียวด้วยค่ะท่าน

แล้วไหนๆ ท่านก็เอ็นดูประชาชนตาดำๆ อยากให้มีรถขับขี่ หันมาพิจารณามอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าก็ดีนะคะ แต่ต้องกำกับดูแลไม่ให้เผ้นผ้านวิ่งบนเลนจักรยานและทางเท้านะคะ มันเหมือนอำมาตย์มีอภิสิทธิค่ะ ไม่งามค่ะ ไม่งาม

และท่านต้องไม่ลืมอุดหนุนจักรยาน ทุกวันนี้ภาษีจักรยานพับได้สูงกว่าภาษีรถยนต์อีกนะท่าน ตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์แน่ะ จักรยานประเภทนี้เหมาะที่สุดเลยสำหรับใช้สัญจรในเมือง ผู้หญิงสวยๆ อย่างท่านก็ปั่นได้สบาย

เมื่อจำนวนรถยนต์ที่เอาออกมาวิ่งกันบนท้องถนนลดลง เราก็จะพบว่าเรามีพื้นที่สาธารณะในเมืองเพิ่มขึ้นมากมาย ลานปูนที่เคยใช้จอดรถเอามาปลูกต้นไม้ เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะร่มรื่น ที่เมืองโบโกต้า ท่านผู้ว่าเพนาโลซ่าสามารถเพิ่มสวนใหม่ๆ ให้คนเมืองถึง 1,200 แห่งด้วยแนวทางลักษณะนี้ค่ะ

เราอยากเห็นท่านออกนโยบายประชานิยมแบบหว่านเมล็ดพืชงอกเงยได้ค่ะท่านขา อะไรเขียวๆ ดีต่อส่วนรวมก็ไปอุดหนุน อะไรเหม็นๆ เป็นภัยต่อสุขภาพและสวัสดิภาพอย่างรถยนต์ก็ไม่ต้องไปสนับสนุน

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก่อนวัน Car Free Day สากล มูลนิธิโลกสีเขียวสำรวจความคิดเห็นคนกรุงเทพฯ จำนวน 4,333 คนค่ะท่าน สำรวจทั้งทางอินเทอร์เน็ตและตามถนนหนทางที่มีรถไฟฟ้าผ่าน คนส่วนใหญ่ที่เราถามเป็นคนขับรถหรือใช้ขนส่งมวลชน เป็นคนขี่จักรยานประจำแค่ 8 เปอร์เซ็นต์ แต่เราพบว่าคนที่เราสำรวจถึง 86 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจะหันมาขี่จักรยานถ้าเขาปั่นได้อย่างปลอดภัยค่ะ และ 93 เปอร์เซ็นต์ยินยอมให้แบ่งพื้นที่บนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยานค่ะ ท่านไม่เชื่อท่านลองสำรวจใหม่เองสิคะ เพราะเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเราคงจะค่อนไปทางเขียวๆ อยู่บ้างแหละค่ะ อันนี้ไม่ปฏิเสธ แต่ดิฉันฟันธงเลยค่ะว่า คนที่อยากขี่จักรยานมีจำนวนมากกว่าที่เราเห็นๆ บนท้องถนนหลายเท่าตัวค่ะ สิ่งที่เขาต้องการคือสภาพทางจักรยานที่ปลอดภัยเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายให้ขี่ไปไหนๆ ได้ ต่อระบบขนส่งมวลชนได้ ความไม่ปลอดภัยมันมากับรถยนต์และมอเตอร์ไซต์ค่ะ นอกจากเสี่ยงถูกเฉี่ยวชนแล้ว เรายังไม่ชอบดมควันพิษเหม็นๆ ด้วยค่ะ

นโยบายเก็บค่าจราจรติดขัดจากรถยนต์เป็นมาตรการสร้างความยุติธรรมในสังคมค่ะ เพราะถนนเป็นพื้นที่ของทุกคน ต้องแบ่งปันกันใช้ ไม่ใช่เฉพาะสำหรับคนนั่งรถยนต์ อากาศหายใจก็เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกชีวิต

สิ่งนี้ท่านมอบให้เราได้ จึงเรียกร้องมาเพื่อพิจารณา

กรุงเทพธุรกิจ: โลกในมือคุณ, ตุลาคม 2554